วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2552

รอยสักบนเรือนร่าง

ผ่านไปแล้วสำหรับงานมหกรรมศิลปะรอยสักนานาชาติ ครั้งที่ 2 (2 World Tattoo Arts) ครั้งนี้จัดที่เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

โดยมี สิทธิภาพ เมืองคุ้ม ปลัดเมืองพัทยาเป็นประธานในพิธีเปิด ไฮไลต์ในงานคือการรวบรวมช่างสักชื่อดังจากทั่วโลกมาเปิดบูธโชว์ศิลปวัฒนธรรม ของแต่ละชาติ และวิธีการสักตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน รวมถึงการแสดงโขนชาววังจากกรมศิลปากร

บรรยากาศภายในงานค่อนข้างคึกคัก มีบูธต่างๆ ประมาณ 70 บูธจากหลากหลายประเทศ เพื่อโชว์ถึงลวดลายการสักของแต่ละประเทศ ไม่ว่าจะเป็นลายสักไทย ลายมังกร หรือแม้แต่ลายรูปปั้นหรือเทพเจ้าต่างๆ ของศาสนาพราหมณ์ และฮินดู ซึ่งดึงดูดทั้งผู้สนใจในการสัก รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ

“ศิลปะของเส้นสายลายไทยสู่รอยสักศิลปะบนเรือนร่าง” คือแนวคิดในการจัดงานครั้งนี้ มีการนำโขนมาเป็นตัวแทนศิลปวัฒนธรรมไทย เพื่อสื่อสารถึงเรื่องราวศิลปะรอยสัก โดยมีวัตถุประสงค์ในการแลกเปลี่ยนข้อมูลทางด้านศิลปวัฒนธรรมระหว่างช่างสัก และผู้ชื่นชอบศิลปะรอยสักทั้งไทยและต่างชาติ เพื่อเผยแพร่ให้ความรู้ศิลปะแต่ละชาติ พร้อมทั้งยกระดับมาตรฐานให้กับวงการสักไทยเป็นที่ยอมรับสู่นานาชาติ




ยุทธพงษ์ ทิพย์ดี ผู้เข้าร่วมงานกล่าวว่า วัฒนธรรมการสักของแต่ละชาติมีความแตกต่างกัน และหาชมได้ยาก ไม่ว่าการสักแบบญี่ปุ่นโบราณ หรือการสักลายไทย ซึ่งคนที่สามารถสักลายไทยให้กับคนอื่นได้ ต้องมีฝีมือระดับสุดยอดจริงๆ เพราะลายไทยเป็นลายที่ทำได้ยาก ลวดลายสวยงาม คนที่สามารถสักได้จึงมีน้อย

"ศิลปะเกี่ยวกับการสัก ต้องใช้ฝีมือและความอดทน ที่สำคัญคนที่จะสักต้องมีใจรัก เพราะรอยสักจะอยู่กับเราไปอีกนาน"

ปัจจุบันวัฒนธรรมการสักในเมืองไทยเริ่มเป็นที่ยอมรับมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มดาราหรือนักร้องหันมาให้ความสนใจและสักมากขึ้น ทำให้สังคมเริ่มมองว่าการสักเป็นเรื่องปกติทั่วไป

อาเล็ก อินเดียน เจ้าของร้าน Indian Tattoo กล่าวว่า การจัดงานที่ผ่านมาถือว่าประสบความสำเร็จมาก เพราะคนในวงการสักมาร่วมงานจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นช่างสักชาวไทย ชาวญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ และชาติอื่นๆ รวมถึงร้านขายอุปกรณ์การสัก ถือได้ว่าเป็นการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมการสักอย่างแท้จริง




คนที่สักจะแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สักเพราะใจรัก และอีกกลุ่มสักตามแฟชั่น อาเล็ก บอกว่า บางคนอาจมองว่า กลุ่มที่สักตามแฟชั่นเป็นพวกดารา นักร้อง สักเพราะอยากเท่ สักแล้วดูดีก็เลยอยากสักบ้าง

"สำหรับผมมองว่า กลุ่มที่สักตามแฟชั่นก็ต้องมีใจรักเหมือนกัน เพราะเขาก็รู้ว่าถ้าสักแล้วรอยสักจะอยู่กับเราตลอดไป จะเอาออกไม่ได้ง่ายๆ ถ้าจะลบออกก็เสียค่าใช้จ่ายสูง จำเป็นต้องคิดดีๆ ไม่ใช่สักตามอารมณ์เพียงอย่างเดียว" เจ้าของร้าน Indian Tattoo กล่าว

เป็นอีกความเคลื่อนไหวของกลุ่มคนเล็กๆ ที่ไม่อาจมองข้าม

จาก http://www.artgazine.com/shoutouts/viewtopic.php?t=2965